top of page
Tall Buildings

การลงทุน / หุ้นส่วน / บริษัท

ALO ให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายธุรกิจทุกด้านรวมถึงการจัดตั้งและการจดทะเบียน บริษัทสาขาสำนักงานตัวแทนสำนักงานภูมิภาคการเป็นหุ้นส่วนการควบรวมและซื้อกิจการและการร่วมทุน นอกจากนี้เรายังให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ขององค์กรที่มีอยู่กับลูกค้าซัพพลายเออร์และตัวแทนจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ข้อตกลงที่เกี่ยวกับการค้า ความลับทางการค้า เงื่อนไขสิทธิหน้าที่ของคู่ค้า ฯลฯ

ลักษณะบริการที่เกี่ยวข้อง 
  • การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สมาคม มูลนิธิ หรือนิติบุคคลอื่น รวมทั้งการขอใบอนุญาตกิจการเฉพาะ

  • แก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนทุกชนิด เช่น กรรมการผู้มีอำนาจ เพิ่มทุน ลดทุน ปิดกิจการ ตราประทับ

  • จัดทำข้อบังคับบริษัท สมาคม

  • การจัดการห้างหุ้นส่วนบริษัท

  • การเลิกห้างหุ้นส่วนบริษัทและการชำระบัญชี

  • ดำเนินการเพื่อจัดการประชุมกรรมการ หรือประชุมผู้ถือหุ้น 

  • ดำเนินการเรียกหุ้นหรือเงินลงทุนคืน

  • ดำเนินการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

  • ดำเนินการให้กรรมการรับผิดในทางแพ่ง

  • ดำเนินการเรียกให้บริษัทจ่ายเงินปันผล

  • ให้คำปรึกษาและจัดทำร่างสัญญาทางธุรกิจทุกประเภท เช่น สัญญาร่วมทุน สัญญาซื้อขายหุ้น สัญญาซื้อขายกิจการ

หุ้นส่วน

สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท คือ สัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ท

ลักษณะของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทมีดังนี้

1) สัญญาระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป บุคคลที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญาในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ บุคคลนั้นต้องมีความสามารถตามกฎหมายในการทำสัญญาด้วย

2) การตกลงกันและเข้าทุนกัน กระทำเพื่อประกอบกิจการที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งก็คือ วัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท และทุนที่จะนำมาเข้ากันนี้อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ เช่น เงิน, ทรัพย์สินอื่น, แรงงาน

3) วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งหุ้นส่วนหรือบริษัท เพื่อนำกำไรจากกิจการนั้นมาแบ่งปันกัน ลักษณะของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทอีกประการคือ ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อนำกำไรจากกิจการที่ทำมาแบ่งปันกัน หากไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำกำไรมาแบ่งปันกันย่อมไม่ใช่สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

ประเภทของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท

1) ห้างหุ้นส่วนสามัญ

2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด

3) บริษัทจำกัด

ห้างหุ้นส่วนสามัญ

คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะดังนี้

1) ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของห้างหุ้นส่วน

2) การรับผิด เป็นการรับผิดโดยไม่จำกัด

ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ดังนั้นลักษณะและหลักเกณฑ์ของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนย่อมนำมาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนสามัญด้วย

ลักษณะสำคัญประเภทหนึ่งของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนก็คือ หุ้นส่วนทุกคนจะต้องจัดการงานร่วมกัน ต้องกระทำกิจการทุกอย่างด้วยกัน แต่อาจมีการแบ่งงานกันทำได้

ความรับผิดที่ผู้เป็นห้างหุ้นส่วนมีต่อบุคคลภายนอก

ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมอ หากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ทำกิจการงานที่เป็นธรรมดาการค้าของห้างหุ้นส่วน ซึ่งโดยหลักก็คือ กิจการที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หรือกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน รวมทั้งกิจการที่จำเป็นต่อการดำเนินกิจการของห้าง

การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ

กฎหมายได้กำหนดเหตุที่จะเลิกห้างหุ้นส่วนไว้โดยเฉพาะซึ่งมีด้วยกัน 3 สาเหตุคือ

1) การเลิกโดยผลของกฎหมาย มีดังนี้

    1.1) มีข้อสัญญาว่าถ้ามีกรณีใดเกิดขึ้นก็ให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกัน 

    1.2) มีข้อสัญญาว่าจะตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

    1.3) มีสัญญาตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นมาเพื่อกระทำการใดเป็นการเฉพาะ

    1.4) มีการตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นมาโดยไม่มีกำหนดเวลาว่าจะเลิกเมื่อใด แต่เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดบอกเลิกสัญญาโดยได้บอกเลิกก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนสิ้นรอบปีในทางบัญชี 

    1.5) มีผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ แต่หากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทนที่ หรือรับซื้อหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนที่ตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ ห้างหุ้นส่วนก็ไม่เลิกกัน 

2) การเลิกโดยความประสงค์ของผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมตกลงเลิกห้างหุ้นส่วนได้เสมอ เพราะไม่มีกฎหมายห้าม และการตกลงเช่นนี้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

3) การเลิกโดยคำสั่งศาล ในกรณีมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนก็สามารถที่จะฟ้องต่อศาลขอให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นเหตุให้สามารถร้องขอต่อศาลให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้มีดังนี้

    3.1) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องนั้นล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้ โดยจจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง

    3.2) เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก

    3.3) เมื่อมีเหตุอื่นใด ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ เช่น ผู้เป็นหุ้นส่วนทะเลาะเบาะแว้งกัน


 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน โดยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะพึงได้จากกิจการนั้น

กฎหมายบังคับให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องจดทะเบียนเสมอ ซึ่งรายการที่ต้องจดทะเบียนมีดังนี้

1) ชื่อของห้างหุ้นส่วน

2) วัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน

3) ชื่อที่อยู่ของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด

4) ชื่อที่อยู่ของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด

5) ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการและข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ (หากมี)

หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แบ่งออกเป็น 2 จำพวก

1) หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด กล่าวคือ ต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน

2) หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด มีลักษณะดังต่อไปนี้

    2.1) หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ไม่สามารถเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้

    2.2) หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิเพียงแนะนำและออกความเห็น

    2.3) คุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่ใช่สาระสำคัญ กล่าวคือกรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตาย ล้มละลาย หรือพบเป็นคนไร้ความสามารถ ก็ไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกัน

    2.4) ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จะจำกัดความรับผิดของตนเองไว้ไม่เกินจำนวนเงินที่ตนจะลงหุ้น และจะรับผิดต่อเมื่อห้างหุ้นส่วนได้เลิกกันแล้วเท่านั้น

บริษัทจำกัด

บริษัทจำกัด คือ บริษัทที่ตั้งขึ้นโดยมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัด โดยเข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิและกระทำการตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อประกอบกิจการที่มุ่งแสวงกำไร

บริษัทจำกัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ

ขั้นตอนการจัดตั้งบริษัท

1) บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เป็นผู้เริ่มก่อการ ตกลงร่วมกันตั้งบริษัทประกอบกิจการเพื่อประสงค์จะได้กำไร

2) ผู้เริ่มก่อการร่วมกันจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ ระบุความต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด

3) นำหนังสือบริคณห์สนธิไปจดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

4) ผู้เริ่มก่อการจัดให้มีการจองหุ้นหรือลงชื่อซื้อหุ้น

5) ผู้เริ่มก่อการต้องเรียกประชุมตั้งบริษัท ซึ่งจะมีการตกลงเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

6) ผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท ต้องมอบหมายกิจการให้แก่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุม

7) คณะกรรมการมีหน้าที่ต้องเรียกเงินค่าหุ้นจากบุคคลที่เข้าชื่อซื้อหุ้น ซึ่งจำนวนเงินที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น

8) กรรมการผู้มีอำนาจจัดทำคำขอจดทะเบียนตั้งบริษัทแล้วยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียน

bottom of page