top of page
Family at a Beach

ครอบครัว / บุตร / ผู้เยาว์

  

 ลักษณะบริการที่เกี่ยวข้อง
  • ฟ้องหย่า

  • ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

  • จดทะเบียนรับรองบุตร 

  • ฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร

  • ร้องศาลตั้งผู้อนุบาล คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ

  • การรับบุตรบุญธรรม

  • คดีจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์

ฟ้องหย่า

เหตุฟ้องหย่าตามกฎหมาย มี 10 ประการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 มีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

    (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

    (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

    (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีหรือภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

    (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

    (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

 

ฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้วบิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

โดยปกติแล้ว บิดาและมารดาย่อมมีหน้าที่ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ (ตั้งแต่เด็กเริ่มคลอดจนกระทั่งเด็กบรรลุนิติภาวะ) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564

ดังนั้น หากบิดาหรือมารดาไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้โดยสภาพ ฝ่ายที่ดูแลบุตรอยู่ สามารถดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามกฎหมาย จากบิดาหรือมารดาที่ไม่ยอมส่งเสียหรืออุปการะเลี้ยงดูบุตร

 

จดทะเบียนรับรองบุตร 

การทำให้บุตรนอกสมรส เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถทำได้โดย จดทะเบียนรับรองบุตรภายหลัง เป็นกรณีที่บิดายอมรับว่าเป็นบุตร และจดทะเบียนรับรองบุตรด้วยความสมัครใจต่อนายทะเบียน เมื่อจดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว จะถือว่าบุตรนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา

บิดามารดาของเด็กเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายบุตรที่เกิดมาจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียวบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาต่อเมื่อ

1. บิดามารดาได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในภายหลัง

2. บิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตรซึ่งจะมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด

3. ศาลได้พิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาซึ่งจะมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด

 

เงื่อนไขการจดทะเบียนรับรองบุตรดังนี้

1. บิดายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียนฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขตแห่งใดก็ได้โดยนำมารดาเด็กและเด็กมาแสดงความยินยอม

2. กรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อนายทะเบียนให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็กถ้าเด็กและมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายใน 60 วันนับแต่การแจ้งนั้นถึงเด็กและมารดาเด็กให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็น 180 วัน

3. ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดาหรือไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนรับรองบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้มาแสดง

http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER9/DRAWER030/GENERAL/DATA0000/00000136.PDF

 

ฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร

กรณีบิดาไม่ยอมจดทะเบียนรับรองบุตร หรือไม่ยอมรับว่าเด็กเป็นบุตร บุตรหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรสามารถยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรของบิดา เพื่อให้บุตรได้รับสิทธิตามกฎหมาย และบุตรจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายทันที เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เด็กเป็นบุตรของบิดา และคดีถึงที่สุด

 

ร้องศาลตั้งผู้อนุบาล คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ

คนไร้ความสามารถ เป็นบุคคลที่หย่อนความสามารถเนื่องด้วยอาการของจิตไม่ปกติ หรือสมองพิการ ซึ่งเรียกว่า คนวิกลจริตหรือคนบ้า เมื่อบุคคลวิกลจริตถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ จะเกิดผลในทางกฎหมายคือ ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล และคนไร้ความสามารถ ไม่สามารถทำนิติกรรมต่างๆ ได้ สิ่งที่ทำเป็นโมฆียะและการสิ้นสุดเป็นคนไร้ความสามารถด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว และศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถ

    คนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นบุคคลที่ไม่สามารถจัดทำการงานของตนเองได้ หรือจัดการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเอง หรือครอบครัว เพราะกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเมาและมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น

    โดยทั่วไป บุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา แต่มีบุคคลบางประเภท กฎหมายถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ ส่วนกิจการใดๆ ของคนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาลทั้งสิ้น สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถ สามารถทำกิจการใดๆ เองได้ เว้นแต่กิจกรรมบางอย่างตามกฎหมาย จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 ได้แก่

1. นำทรัพย์สินไปลงทุน

2. รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น

3. กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

4. รับประกันโดยประการใดๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้

5. เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี

6. ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

7. รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา

8. ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มา หรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า

9. ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่

10. เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์

11. ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

    ผลของนิติกรรมที่กระทำลงโดยปราศจากความยินยอมของผู้พิทักษ์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ย่อมมีผลเป็นโมฆียะ

bottom of page