ค้ำประกัน / จำนอง
ค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น หนี้ที่ค้ำประกันได้ อาจเป็นหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขก็ประกันได้ เช่น
- ค้ำประกันลูกจ้างเข้าทำงาน แต่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในขอบเขตที่ทำสัญญาค้ำประกันเท่านั้น
- ค้ำประกันผู้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ลักษณะของสัญญาค้ำประกัน
1) ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญาระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
2) บุคคลภายนอกนั้นเข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้
3) สัญญาว่าจะชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
4) ค้ำประกันเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับผู้ค้ำประกัน โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมจากลูกหนี้
5) ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ เพียงแต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะสามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้
6) เมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ได้
เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หากผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีทางชำระหนี้ได้ และการบังคับให้ชำระหนี้ไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้ต้องบังคับจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน แต่แม้เจ้าหนี้จะไม่เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ก็ไม่เป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด
เมื่อผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ เพื่อต้นเงิน ดอกเบี้ยและเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปเพราะการค้ำประกัน
จำนอง คือ การที่ผู้จำนองเอาทรัพย์สินของตนมาเป็นประกันการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนองโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
หลักของสัญญาจำนอง
1) การจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันคู่กรณี
2) ต้องระบุทรัพย์สินที่จำนองให้ชัดเจน
ทรัพย์ที่จำนองได้
ทรัพย์ที่จดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ดิน
ที่ดินที่จำนองได้โดยทั่วไป ได้แก่ ที่ดินที่มีหนังสือแสดงสิทธิ ได้แก่ ที่ดินมีโฉนด หมายความรวมถึง โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจอง ที่ระบุว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
สิทธิของผู้จำนอง
เนื่องจากการจำนองเป็นการเอาทรัพย์สินมาเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนองให้แก่ผู้รับจำนองดังนั้นผู้จำนองจึงยังคงเป็นเจ้าของอยู่ตามเดิมและยังคงครอบครองทำประโยชน์ในทรัพย์สินที่จำนองได้
สิทธิของผู้รับจำนอง
1) ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ
2) ผู้รับจำนองบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ไม่ว่าทรัพย์สินที่จำนองจะโอนไปแก่ผู้ใดการจำนองย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์สินนั้น
การบังคับจำนอง
1) ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตาม ผู้รับจำนองจะฟ้องศาล เพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดก็ได้
2) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง ให้นำเงินชำระหนี้คืนให้แก่ผู้รับจำนอง หากมีเงินเหลือเท่าใดให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง
3) เมื่อฟ้องศาลแล้ว ผู้รับจำนองยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาทรัพย์สินที่จำนอง หลุดเป็นของผู้รับจำนองได้ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- ลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึง 5 ปี
- ผู้จำนองมิได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าราคาทรัพย์สินนั้นเท่าจำนวนเงินอันค้างชำระ
- ไม่มีการจำนองรายอื่นหรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์จำนองนั้น
4) ถ้าผู้รับจำนองเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นของผู้รับจำนอง และราคาทรัพย์จำนองนั้นต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระอยู่ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น