top of page
White Columns

การดำเนินการในชั้นศาล / บังคับคดี

การดำเนินการในชั้นศาล

ในคดีแพ่งเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจำเป็นจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ ผู้เสนอคดีของตนขึ้นสู่ศาลจะต้องระบุข้อเท็จจริงในคำฟ้องหรือคำร้อง แต่ไม่จำเป็นต้องระบุข้อกฎหมายที่จะนำมาปรับกับคดี

กระบวนการในการดำเนินคดีแพ่ง แยกอธิบายออกเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ได้แก่

1 การเริ่มต้นคดี

2 การพิจารณาคดี

3 การพิพากษาคดี

ขั้นตอนการเริ่มต้นคดี ได้แก่ การฟ้องคดีต่อศาลซึ่งกฎหมายกำหนดให้โจทก์ฟ้องคดีด้วยการทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาล และเมื่อได้ส่งหมายเรียกและคำฟ้องให้จำเลยแล้ว กฎหมายก็กำหนดให้จำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนการพิจารณาคดี เป็นขั้นตอนการถกเถียงกันของคู่ความ และเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่คำพิพากษา แยกพิจารณาเป็น 2 ส่วนคือ

  • การชี้สองสถาน หลังจากผ่านขั้นตอนการเริ่มต้นคดีแล้ว ศาลจะทำการชี้สองสถาน โดยศาลจะตรวจคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความ รวมทั้งสอบถามข้อความทุกฝ่ายถึงข้ออ้างข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้างข้อเถียงนั้นอย่างไร แล้วจึงกำหนดประเด็นข้อพิพาท

  • การสืบพยานหลักฐาน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งวางหลักไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นย่อมมีหน้าที่ในการนำสืบข้อเท็จจริงนั้น โดยในการสืบพยานหลักฐานนี้คู่ความสามารถอ้างอิงเอกสารหรือคำเบิกความของพยานคนใดก็ได้ โดยจะให้พยานบุคคลมาเบิกความต่อศาลถึงข้อเท็จจริงต่างๆ และให้รับรองความถูกต้องของพยานเอกสารหรือพยานวัตถุเพื่อเข้าสู่สำนวนศาล ศาลจะได้พิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานปากนั้นๆ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งสามารถถามค้านพยานได้

ขั้นตอนการพิพากษาคดี เป็นอำนาจของศาลซึ่งโดยหลักแล้วคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลต้องทำเป็นหนังสือ

 

การบังคับคดี

ศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี คือ ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น ซึ่งมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดีตามมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และมีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับคดี เช่น หนี้ตามคำพิพากษากรณีที่เป็นหนี้เงิน ศาลอาจกำหนดวิธีการโดยการตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระแก่โจทก์

เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งจะต้องมีการบังคับคดี ไม่ว่าจะเป็นการบังคับคดีกรณีที่เป็นหนี้เงิน หรือการบังคับคดีให้ส่งคืนหรือส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง หรือการบังคับคดีกรณีที่ให้ขับไล่ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ หรือการบังคับคดีในกรณีที่ต้องหรือถอนหรือขนย้ายหรือการบังคับคดีในกรณีให้กระทำการ หรือการบังคับคดีในกรณีให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ หรือการบังคับคดีในกรณีได้มาซึ่งทรัพย์สินที่มีทะเบียน การบังคับคดีเหล่านี้ศาลต้องออกคำบังคับก่อนเสมอ

ถ้าคู่ความซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีไม่ได้ปฏิบัติตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล คู่ความฝ่ายชนะคดีชอบที่จะร้องขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องหรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นตามบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในชั้นที่สุด

ฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ คือ

1) ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี

2) ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว

3) ต้องแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในชั้นที่สุด

การบังคับคดีภายใน 10 ปี

ใช้กับการบังคับคดีทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นการขอให้มีการบังคับคดีโดยวิธียึดทรัพย์สินอายัตสิทธิเรียกร้องหรือบังคับให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง การบังคับคดีให้ลูกหนี้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการบังคับคดีให้ลูกหนี้ทำนิติกรรมโดยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาเรานี้ผู้ชนะคดีตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีครั้งพิพากษาของศาลใช้ที่สุดมิฉะนั้นจะหมดสิทธิ์ในการบังคับคดี อย่างไรก็ตามการบังคับคดีภายในระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในชั้นที่สุดกรณีฝ่ายชนะคดีได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องไว้แล้ว ก็ให้ทราบพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีจากทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จแม้การดำเนินการดังกล่าวจะล่วงพ้น 10 ปีแล้วก็ตาม

คู่ความฝ่ายชนะคดีจะร้องขอให้มีการบังคับคดีได้แต่จะไม่บังคับคดีก็ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา (คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี) แต่จะนำหนี้ตามคำพิพากษาไปฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้ 

  

 

bottom of page