มรดก / พินัยกรรม
มรดก คือ ทรัพย์สินทุกอย่างที่เป็นของผู้วายชนม์ รวมไปถึงสิทธิและหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้วายชนม์ที่มีอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย
มรดกที่เป็นทรัพย์สิน คือ สิ่งมีค่า มีราคา อาทิ บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น
มรดกที่เป็นสิทธิ คือ เป็นสิ่งที่จะได้มาหรือมีอยู่ เช่น สิทธิตามสัญญาเช่า สิทธิตามสัญญากู้ยืมเงิน สิทธิในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ในการได้รับเงินคืน เป็นต้น
มรดกที่เป็นความรับผิด คือ เรื่องที่จะต้องชดใช้ เช่น ความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้อื่นหรือความรับผิดที่เกิดจากการผิดข้อสัญญาต่างๆ
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้วายชนม์ มี 2 ประเภท ดังนี้
-
ทายาทโดยธรรมของผู้วายชนม์
-
ผู้รับพินัยกรรมของผู้วายชนม์
1. ทายาทโดยธรรมของผู้วายชนม์
ทายาทโดยธรรมของผู้วายชนม์ที่มีความสัมพันธ์เป็นญาติของผู้วายชนม์โดยตรง ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นไปตามลำดับชั้น แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ดังต่อไปนี้
-
ผู้สืบสันดาน
-
บิดามารดา
-
พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
-
พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
-
ปู่ ย่า ตา ยาย
-
ลุง ป้า น้า อา
โดยให้ลำดับชั้นที่ใกล้ชิดกับผู้วายชนม์ที่สุดเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนเสมอและในกรณีที่ทายาทโดยธรรมจะมีสิทธิรับมรดกได้นี้ จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ตายมิได้มีการทำพินัยกรรมเอาไว้ หรือทำไว้แต่เพียงบางส่วน หรือทำพินัยกรรมไว้แล้วไม่มีผล
ทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส หมายถึง คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้วายชนม์ ย่อมมีสิทธิได้รับมรดก
2. ผู้รับพินัยกรรมของผู้วายชนม์
ผู้ที่มีสิทธิรับมรดกของผู้วายชนม์เป็นการเฉพาะเจาะจง เนื่องจากผู้วายชนม์ได้มีการทำหนังสือกำหนดว่าจะให้ผู้ใดมีสิทธิได้รับมรดกของผู้วายชนม์ไว้ก่อน ซึ่งผู้ที่มีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรมนั้นไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติ
พินัยกรรม คือ การแสดงเจตนาของผู้ตายในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของจนก่อนตาย เพื่อให้การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้ล่วงหน้านั้นมีผลต่อเมื่อตนถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งการแสดงเจตนาดังกล่าวต้องได้ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้
แบบของพินัยกรรมกฎหมายกำหนดว่าอาจทำตามแบบใดแบบหนึ่ง ดังต่อไปนี้
-
พินัยกรรมแบบธรรมดา
-
พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
-
พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
-
พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
-
พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา