อุทธรณ์และแก้อุทธรณ์
อุทธรณ์ (ในคดีแพ่ง) คือ การคัดค้านคำพิพากษา ซึ่งต้องบรรยายข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะอุทธรณ์โดยชัดแจ้ง และคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นอันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ซึ่งการอุทธรณ์นั้นเป็นสิทธิของคู่ความ ดังนั้นเมื่ออุทธรณ์เป็นสิทธิ จึงมีข้อจำกัดสิทธิดังนี้
สิทธิในการอุทธรณ์มีเกณฑ์ในการพิจารณาว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ ดังนี้
1) อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
- ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ต้องเกิน 50,000 บาท หากไม่เกิน 50,000 บาท ก็จะต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
- คดีไม่มีทุนทรัพย์ประเภทฟ้องขับไล่ซึ่งมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าในขณะฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ก็จะต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
- ข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ คู่ความต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ข้อยกเว้น คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้เมื่อมีกรณีดังนี้
- ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นทำความเห็นแย้ง
- ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้
2) อุทธรณ์ในข้อกฎหมาย
- ข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ คู่ความต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย กล่าวคือ ยกขึ้นเป็นข้ออ้างในคำฟ้อง หรือที่จำเลยให้การปฏิเสธหรือยกเป็นข้อต่อสู้ ข้อเถียงในคำให้การมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น
คำฟ้องอุทธรณ์แตกต่างจากคำฟ้องศาลชั้นต้น คือ ไม่มีลักษณะกล่าวหาคู่กรณีอีกฝ่าย แต่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไรและควรจะชนะคดีอย่างไร
ตัวอย่างอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง
1) อุทธรณ์ที่ไม่ยกเหตุผลขึ้นโต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร
2) อุทธรณ์ที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น
3) อุทธรณ์ที่โต้แย้งไม่ถูกเรื่องไม่ถูกประเด็นที่กล่าวอ้าง
4) อุทธรณ์ที่สรุปข้อเท็จจริงเอง ซึ่งผิดไปจากพยานหลักฐานที่ผู้อุทธรณ์อ้าง
การดำเนินการยื่นอุทธรณ์
1) การอุทธรณ์นั้นจะต้องทำเป็นหนังสือ อุทธรณ์ด้วยวาจาไม่ได้ ยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องเป็นศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
2) ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นโดยชอบ (ระยะเวลาอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะแตกต่างออกไป)
3) ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย
4) ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์ ซึ่งต้องยื่นให้ครบตัวจำเลย
แก้อุทธรณ์
ผู้มีสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์ คือ จำเลยอุทธรณ์ ซึ่งอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยในศาลชั้นต้นก็ได้ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับผู้อุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์นั้นถือว่าเป็นโจทก์ในชั้นอุทธรณ์
เมื่อได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้รับอุทธรณ์แล้ว ให้ศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยอุทธรณ์และภายในกำหนดเจ็ดวัน
จำเลยอุทธรณ์อาจยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันส่งสำเนาอุทธรณ์ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ห้ามมิให้ศาลแสดงว่า จำเลยอุทธรณ์ขาดนัดเพราะไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างยื่นอุทธรณ์อีกฝ่ายหนึ่งก็มีสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์ด้วยเช่นกัน
สำหรับคดีที่มีจำเลยเฉพาะหลายคน จำเลยอุทธรณ์แต่ละคนมีสิทธิยื่นคำแก้อุทธรณ์ แต่จะทำคำแก้อุทธรณ์รวมมาเป็นฉบับเดียวกันก็ได้ คำแก้อุทธรณ์ที่ยื่นโดยผู้ไม่ใช่คู่ความในคดี แม้ศาลจะสั่งรับก็ไม่มีผลเป็นคำแก้อุทธรณ์และไม่เกิดเป็นประเด็น และคำแก้อุทธรณ์ต้องยื่นต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีหน้าที่ตรวจคำแก้อุทธรณ์
ผลของการยื่นคำแก้อุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนด
1) คำแก้อุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนด ถือว่าเป็นคำแก้อุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากศาลชั้นต้นรับคำแก้อุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดก็ชอบที่จะสั่งรับมาในฐานะเป็นคำแถลงการณ์ ซึ่งเป็นผลให้ไม่อาจตั้งประเด็นขึ้นได้
2) คำแก้อุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดอาจรับฟังเป็นคำแถลงรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชำระหนี้ได้ สำหรับคำแก้อุทธรณ์ที่ชอบนั้น ย่อมก่อให้เกิดประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ทำนองเดียวกับคำให้การในศาลชั้นต้น แต่จะตั้งประเด็นขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่มีในศาลชั้นต้นไม่ได้ เว้นแต่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย
นอกจากนี้ กฎหมายก็ไม่ได้บังคับจำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ ชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์จะไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ก็ได้ และห้ามไม่ให้ศาลแสดงว่าจำเลยขาดนัดเพราะไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีกระบวนพิจารณาขาดนัดยื่นคำให้การในชั้นอุทธรณ์ และจะถือว่าจำเลยอุทธรณ์ยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องอุทธรณ์ไม่ได้ เว้นแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้อุทธรณ์มิได้โต้แย้งคัดค้านและจำเลยอุทธรณ์มิได้แก้อุทธรณ์ในประเด็นข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือว่าข้อเท็จจริงนั้นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ตามการยื่นคำแก้อุทธรณ์มีลักษณะเป็นสิทธิ ผลของการไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ ทำให้ประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นยุติไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น