ความผิดทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ
การประกอบธุรกิจ เป็นกระบวนการดำเนินกิจกรรมทางด้านการผลิต การจำหน่าย และการให้บริการ
กฎหมายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจนั้นอาจอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรืออยู่ในกฎหมายเฉพาะเรื่องก็ได้ ซึ่งสามารถแยกได้ดังนี้
1) กฎหมายธุรกิจที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับตั๋วเงิน องค์กรธุรกิจ นิติกรรมสัญญา กฎหมายลักษณะหนี้ การซื้อขาย การขายฝาก การขายทอดตลาด การแลกเปลี่ยน ให้ การเช่าทรัพย์ และการเช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ การรับขน และเก็บของในคลังสินค้า ยืม ฝากทรัพย์ เป็นต้น
2) กฎหมายธุรกิจที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะเรื่อง เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ประมวลรัษฎากร กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายการล้มละลาย กฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย จะต้องตรวจสอบด้วยว่า กิจการค้าที่ดำเนินการนั้น ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือไม่ หากเป็นกิจการค้าที่ต้องได้รับอนุญาต ผู้ประกอบพาณิชยกิจจะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าก่อนยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งหากประกอบธุรกิจฝ่าฝืนเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดก็ต้องระวางโทษปรับ
หากพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายทั้งในประมวลกฎหมายและพระราชบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการทางการค้าของบุคคล/นิติบุคคลและ/หรือผู้แทนของนิติบุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดได้ โดยปกติแล้วกฎหมายจะบัญญัติอย่างชัดเจนว่า การกระทำใดจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดและมีความรับผิดทางอาญาเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น บริษัทจำกัดเมื่อจดทะเบียนตั้งบริษัทแล้วจะมีกรรมการเป็นผู้มีอำนาจจัดการงานของบริษัท โดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ดูแลครอบงำการจัดการงานของกรรมการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท หากกรรมการละเลยไม่ กระทำตามจะมีความผิดและมีโทษทางอาญาเป็นโทษปรับ ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499
ในกรณีของนิติบุคคล ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้นิติบุคคลมีสภาพบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดา สถานะของนิติบุคคลนั้นเกิดขึ้นโดยอำนาจแห่งกฎหมายจึงมีสิทธิหน้าที่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้ภายในขอบวัตถุประสงค์ข้อบังคับ นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา โดยเจตนาของนิติบุคคลแสดงออกผ่านผู้แทนของนิติบุคคล และอาจเกิดความผิดอาญาได้ หากผู้แทนของนิติบุคคลไม่กระทำการภายในขอบวัตถุประสงค์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เมื่อนิติบุคคลกระทำความผิดอาญาแล้ว โทษที่จะลงแก่นิติบุคคลนั้น “ศาลจะลงโทษได้เท่าที่สภาพแห่งโทษจะเปิดช่อง” ซึ่งได้แก่ โทษปรับ ริบทรัพย์สิน เลิกกิจการ หรือเพิกถอนนิติบุคคลเท่านั้น เนื่องจากนิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมติไม่มีชีวิตจิตใจ ความผิดใดที่บทลงโทษมีผลต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก หรือกักขัง ย่อมไม่สามารถบังคับแก่นิติบุคคลได้ ดังนั้นความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลจึงอาจจะจำกัดเพียงความรับผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน