ฎีกาและแก้ฎีกา
ฎีกา (ในคดีแพ่ง)
การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา พร้อมกับคำฟ้องฎีกา ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา และให้ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคำร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา ให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง
การที่ศาลฎีกาจะพิจารณาอนุญาตนั้นจะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ที่บัญญัติ ให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกาเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
คดีที่จะขออนุญาตฎีกาไม่ว่าจะเป็นคดีมีทุนทรัพย์เพียงใดหรือไม่มีทุนทรัพย์ คู่ความก็มีสิทธิยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาได้ และไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ปัญหาข้อเท็จจริงก็ขออนุญาตฎีกาได้ แต่ที่ได้รับอนุญาตต้องเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย
ปัญหาสำคัญหมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้
1) ปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญขัดกันหรือขัดกับแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกา
3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกามาก่อน
4) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ขัดกับคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดของศาลศาลอื่น
5) เพื่อเป็นการพัฒนาการตีความกฎหมาย
6) ปัญหาสำคัญอื่นตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ได้แก่ กรณีดังต่อไปนี้
1) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์มีความเห็นแย้งในสาระสำคัญ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัย
2) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายสำคัญที่ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย
3) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัย
ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
การขออนุญาตฎีกา ต้องแสดงถึง
1) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นที่ประสงค์ขออนุญาตฎีกา และ
2) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย