top of page
Handshake

นิติกรรม / สัญญา / ละเมิด

นิติกรรม

    ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 149 บัญญัติว่า “นิติกรรม หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ” นิติกรรมมีหลายประเภท ได้แก่ นิติกรรมฝ่ายเดียว นิติกรรมสองฝ่าย และนิติกรรมหลายฝ่าย 

    สัญญาเป็นนิติกรรมประเภทหนึ่ง คือเป็นนิติกรรมสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย ดังนั้นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวย่อมไม่อาจเกิดผลเป็นสัญญาได้

    โดยหลักแล้ว บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพื่อก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายได้ ซึ่งไม่ได้มีข้อจำกัดเพียงการแสดงเจตนาทำนิติกรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น บุคคลยังสามารถแสดงเจตนาทำนิติกรรมในรูปแบบอื่นๆ ได้ แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบไว้เลย เช่น สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา 

ประเภทของสัญญา

  • สัญญาที่เกิดจากเจตนาของคู่สัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า สัญญาจ้าง สัญญาขายฝาก สัญญายืมสัญญาค้ำประกัน สัญญาตัวแทน บันทึกข้อตกลง ฯลฯ

 

องค์ประกอบของสัญญา

  • มีคู่สัญญาสองฝ่ายขึ้นไป

  • มีเจตนาตรงกัน

  • สัญญานั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย

 

ผลของสัญญา

  • คู่สัญญามีหน้าที่ผูกพันตามสัญญา

  • คู่สัญญามีสิทธิเรียกร้องตามสัญญา

 

ละเมิด

    หนี้ในทางนิติกรรม เกิดได้โดย “นิติกรรม” และ “นิติเหตุ” หนี้ในทางนิติกรรมนั้น เกิดจากการกระทำอันชอบด้วยกฎหมาย ด้วยสมัครใจ มุ่งผลโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ก่อให้เกิดหน้าที่และสิทธิเรียกร้อง 

    ละเมิด เป็นความรับผิดทางแพ่งซึ่งเกิดโดย “นิติเหตุ” ซึ่งเป็นหนี้ที่ผู้กระทำไม่ได้สมัครใจก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลขึ้น แต่เกิดขึ้นโดยกฎหมายบังคับ กล่าวคือ ก่อนมีการละเมิด ยังไม่มีหนี้เกิดขึ้นในระหว่างผู้ทำละเมิดกับผู้เสียหาย ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อมีการละเมิดจึงเกิดมีหนี้ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเรียกได้ว่าความรับผิดทางละเมิดเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ ส่วนสัญญาจะต้องมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน 

    ในบางกรณี คู่สัญญาอาจมีการกระทำผิดสัญญาและเป็นละเมิดในคราวเดียวกัน

    ตัวอย่างเช่น สัญญาจ้างแรงงาน ลูกจ้างเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ของนายจ้างแล้วยักยอกเงินนั้นไป ถือได้ว่าเป็นทั้งผิดสัญญาจ้างแรงงานและการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อนายจ้างเช่นเดียวกัน หรือ กรณีสัญญาเช่าครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ได้ตกลงในสัญญาเช่า การที่ผู้เช่าไม่ทำการส่งคืนบ้านหรืออาคารแก่ผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งฐานผิดสัญญาและละเมิด

     ดังนั้น ความมุ่งหมายของกฎหมายละเมิด อยู่ที่การชดใช้เยียวยาความเสียหาย กรณีที่จะถือว่าเป็นละเมิดจึงมิได้อยู่ที่ว่าบทกฎหมายกำหนดว่าการกระทำอะไรหรืออย่างไรจึงจะเป็นละเมิดอย่างเช่นกฎหมายอาญา หากแต่ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่ว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย อันเป็นผลจากการกระทำโดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำได้

  

 

bottom of page